โปรเจคของมูลนิธิ

ด้านส่งเสริมการศึกษาโค้ดดิ้งและทักษะดิจิตอล

  • ChocolateCoding เพื่อการเรียนรู้โค้ดดิ้งที่สนุกและง่าย เพียงแค่ลาก-วางบล็อกคำสั่ง คอร์สออนไลน์ สำหรับ เด็กๆ ผู้ปกครองและผู้ที่สนใจ สามารถเรียนได้จากที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเรียน Python ผ่านเกม, การทำแอนนิเมชันด้วย Scratch, การทำแอ็พมือถือ, minecraft (ใส่คอร์สเพิ่มที่เหลือเพิ่มได้เลย)
  • Unplugged Coding (Treasure Hunter) การเรียนโค้ดดิ้งผ่านการเล่นเกมและไม่ใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งขั้นสูง และเสริมสร้างความมั่นใจในการโค้ดดิ้ง ผลงานวิจัยในระดับปริญญาเอก สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับการ Published ถึง 3 paper ในระดับนานาชาติ ถูกนำไปใช้ในการเรียนการสอนกับเด็กๆ คุณครู รวมถึงสามเณร กว่าพันคน และแจกจ่ายไปยังโรงเรียนชายแดนกว่า 100 โรงเรียน
  • Smart Farm การเรียนรู้โค้ดดิ้งผ่านการสร้างโครงงานเขียนโค้ดควบคุมอุปกรณ์ Microcontroller เพื่ออ่านค่าจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อม เช่น ค่าความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ ความเข้มแสง แล้วนำเอาค่าที่ได้มาควบคุมการเปิด-ปิดอุปกรณ์ในฟาร์ม เช่น ปั๊มน้ำ แสงสว่าง พัดลม แล้วต่อยอดโดยนำใช้งานจริงในโรงเรียนเพื่อเป็นการพัฒนาความรู้ควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพและสุขภาพอย่างยั่งยืน
  • ReBorn คืนอาชีพให้ผู้ต้องขัง ศึกษาความต้องการทางด้านอาชีพและฝึกอบรมวิชาชีพพร้อมกับการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิตอลและเทคโนโลยี รวมถึงการเป็นผู้ประกอบการของผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถาน/สถานพินิจ เช่น อาชีพโปรแกรมเมอร์สำหรับการพัฒนาระบบ/แอพพลิเคชั่น, อาชีพทางด้านดิจิตอลมาเก็ตติ้ง, อาชีพทางด้านการพัฒนาและการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่ผู้ต้องขังได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานภายในประเทศ และตลาดแรงงานในอนาคต ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพ จะสามารถนำความรู้ ความสามารถไประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ และไม่กลับไปทำผิดซ้ำ

ด้านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคม

  • i-BUDSIR การพัฒนาพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ฉบับแรกของโลก ให้เป็นพระไตรปิฎกฉบับออนไลน์ พร้อมเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ให้การศึกษาพุทธศาสนา เป็นไปได้สะดวก แพร่หลายและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

โดย BUDSIR เดิม คือ พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มจัดทำเมื่อปี พ.ศ. 2530 และประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. ณัฐ ภมรประวัติ (ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในสมัยนั้น) เป็นประธานคณะกรรมการ และมี พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพเวที ในสมัยนั้น) เป็นที่ปรึกษา และรองศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ตั้งวงศ์ศานต์ (ครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบัน คือ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

โดยนำพระไตรปิฎกทั้งหมด 45 เล่ม มาบรรจุในคอมพิวเตอร์ ประเภท PC และพัฒนาโปรแกรมชื่อ BUDSIR (BUDdhist Scriptures Information Retrieval) เพื่อการสืบค้นข้อมูล ต่อมาท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้ตั้งชื่อว่า “พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์”

BUDSIR เป็นโครงการที่เฉลิมฉลองและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาโครงการฯ ได้พัฒนาและเผยแพร่ผลงานมาแล้ว 11 ครั้ง ได้แก่ BUSIR ชุดแรก ตามด้วย BUDSIR II, III, และ IV ภายใต้ DOS และในปี พ.ศ. 2537 ได้พัฒนา BUDSIR IV on CD-ROM เป็นผลสำเร็จ และอีก 2 ปีต่อมา ได้พัฒนา BUDSIR IV for Windows เพื่อความสะดวกในการใช้งานยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2541 ได้พัฒนาเป็นชุดภาษาไทย หรือ BUDSIR/TT ทำให้ชาวไทยได้ค้นหาข้อมูลในคัมภีร์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้นซึ่ง BUDSIR/TT นี้ มีการพัฒนาต่อเนื่องถึง 3 Version ด้วยกัน ผลงานที่สำคัญอีกผลงานหนึ่ง คือ พระไตรปิฎกฉบับนานาชาติ หรือ BUDSIR V ซึ่งสามารถแสดงผลได้ถึง 8 ชุดอักษร ได้แก่ เทวนาครี สิงหล พม่า เขมร ล้านนา ลาว โรมัน และไทย และผลงานล่าสุดในปี พ.ศ. 2550 คือ BUDSIR VI โดยได้เพิ่มชุดคัมภีร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกที่สมบูรณ์ที่สุด และเพิ่มการเชื่อมโยงพุทธธรรมเข้ากับคัมภีร์ที่ใช้ใน BUDSIR และโปรแกรมพจนานุกรมศัพท์พุทธศาสตร์ ที่สืบค้นศัพท์ธรรมะ ได้ทั้งไทย-อังกฤษ

BUDSIR สามารถค้นหาทุกคำ ทุกศัพท์ ทุกพุทธภาษิต ทุกพุทธพจน์ ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และครบถ้วนสมบูรณ์ ปัจจุบันคณะทำงานได้พัฒนา BUDSIR อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างสัมมาปัญญา และเพื่อประโยชน์สุข สันติ ต่อชาวโลก